top of page

ถูกแช่ไว้ในกาลเวลา


ย้อนกลับไปเมื่อปีค.ศ.2011 ณ เหมืองคันซอร์มิลเลเนียม รัฐอัลเบอตา ประเทศแคนาดา ก็เหมือนวันปกติทั่วๆไปที่พนักงานในเหมืองกำลังทำงานอย่างแข็งขัน แต่แล้วจู่ๆ ในขณะที่เครื่องจักรหนักกำลังขุดผ่านชั้นหินหนา มีเศษอะไรบางอย่างตกลงมาดูคล้ายหิน แต่ด้วยความตาไวของคนงานก็เห็นลวดลายที่ประทับอยู่บนหิน นี่ยิ่งกว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 เสียอีก! เพราะนี้ไม่ใช่แค่ก้อนหิน แต่เป็นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่ถูกเก็บรักษาในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดชิ้นหนึ่ง มันคือ ไดโนเสาร์หุ้มเกราะ"โนโดซอร์"

โดยทั่วไปแล้ว การเกิดซากดึกดำบรรพ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งตายลง หากร่างไม่ถูกตะกอนกลบทับก็อาจถูกสัตว์อื่นกินซากจนไม่เหลือ ดังนั้นซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำมักมีสภาพที่สมบูรณ์กว่าสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบก เพราะว่าน้ำจะช่วยพัดเอาตะกอนมาฝังกลบไว้ในเวลาอันรวดเร็ว ที่นี้ก็คงจะนึกภาพออกแล้วใช่มั้ยครับว่าการจะพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์บกที่มีสภาพสมบูรณ์นั่นยากมาก การค้นพบไดโนเสาร์หุ้มเกราะโนโดซอร์ตัวนี้จึงเป็นการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจในวงการวิทยาศาสตร์

ไดโนเสาร์หุ้มเกราะมีวิวัฒนาการครั้งแรกในช่วงตอนกลางของยุคจูแรสซิก จากแผนผังวิวัฒนาการแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของไดโนเสาร์หุ้มเกราะซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สเตโกซอเรีย และ แองคีโลซอเรีย

1. สเตโกซอร์เรีย เป็นกลุ่มไดโนเสาร์ที่มีแผ่นหลังเรียงสลับกัน อีกทั้งมีหนามที่หางไว้ป้องกันตัว สเตโกซอร์เรียเป็นไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่พบได้ทั่วไปในยุคจูแรสซิก (ในประเทศไทย พบชิ้นส่วนกระดูกสันหลังที่จ.กาฬสินธ์)

2. แองคีโลซอเรีย เป็นกลุ่มไดโนเสาร์ที่มีแผ่นเกราะหุ้มเกือบทั้งตัว บางชนิดมีลุกตุ้มอยู่ที่หาง บางชนิด(โนโดซอร์)ไม่มีลูกตุ้มที่หาง แต่มีหนามแหลมทั้งด้านบนและด้านข้างลำตัว

ภาพ: ROBERT CLARK

คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ไดโนเสาร์หุ้มเกราะตัวนี้ถูกค้นพบ คือ เหตุใดซากดึกดำบรรพ์ชิ้นนี้จึงมีสภาพที่สมบูรณ์มากเช่นนี้ ผมอยากให้ท่านผู้อ่านทุกคนลองนึกภาพยุคครีเทเชียสเมื่อประมาณ 110 ล้านปีก่อน ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง พื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือแคนาดา เป็นที่ราบอันอบอุ่นและอุดมไปด้วยพืชพรรณนานาๆ มีไดโนเสาร์ตัวหนึ่งกำลังอ่อนแรงใกล้สิ้นอายุขัย มันใช้กำลังเฮือกสุดท้ายในการพาตัวเองไปใกล้กับแม่น้ำเพื่อดื่มน้ำดับกระหาย เมื่อมันไปถึง มันก็สิ้นใจอยู่ตรงริมแม่น้ำ เวลาผ่านไปได้ไม่นานน้ำค่อยสูงขึ้น พัดเอาร่างของไดโนเสาร์หุ้มเกราะตัวนี้ไหลไปตามแม่น้ำจนออกสู่ทะเล หลายวันต่อมา ซากที่ขึ้นอืดก็ปริแตก ร่างของโนโดซอร์จึงค่อยจมลงสู่ก้นทะเล ตะกอนได้ห่อหุ้มร่างของมันเอาไว้ ช่วงระหว่างที่ตะกอนกลบทับอยู่นั้นแร่ธาตุได้แทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อ ช่วยรักษาสภาพร่างกายให้คงสภาพเดิมไว้ เวลาผ่านไปหลายล้านปีชั้นตะกอนทับตัวกันหนาขึ้นและแข็งกลายเป็นหิน ร่างของโนโดซอร์ตัวนี้จึงไม่ถูกรบกวนเลย จนกระทั่งมีคนงานเหมืองพบมัน

ภาพ: ROBERT CLARK

หลังจากที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการขุดเอาซากดึกดำบรรพ์โนโดซอร์ตัวนี้ออกมาจากชั้นหิน ซากดึกดำบรรพ์โนโดซอร์ได้ถูกส่งไปทำการอนุรักษ์ไว้ที่พิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ (Royal Tyrrell Museum) การจัดเตรียมซากดึกดำบรรพ์ชิ้นนี้ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ชิ้นส่วนที่ยาว 2.75 เมตร เผยให้เห็นเกล็ดกระดูกผิวหนัง(Osteoderm)ที่ยังติดกันในสภาพสมบูรณ์แบบ จุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ เดือยแหลมบนบ่า ยาว 50 เซนติเมตร นักบรรพชีวินวิทยาสันนิษฐานว่า เดือยแหลมนี้อาจไว้ใช้ดึงดูดเพศตรงข้าง และใช้ป้องกันตัวจากไดโนเสาร์นักล่า

ในปีค.ศ. 2017 งานวิจัยและการศึกษาโนโดซอร์ตัวนี้ได้ถูกเผยแพร่ในวารสาร Current Biology พร้อมทั้งตั้งชื่อให้กับโนโดซอร์ตัวนี้ว่า "Borealopelta markmitchelli " คำว่า"borealis" ในภาษาละตินแปลว่า ตอนเหนือ คำว่า"pelta" ในภาษากรีกแปลว่า เกราะ ส่วนชื่อเฉพาะ"markmitchelli" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ มาร์ก มิตเชลล์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของพิพิธภัณฑ์รอยัลไทร์เรลล์ซึ่งใช้เวลากว่า 7,000 ชั่วโมงในการสกัดหินออกจากซากดึกดำบรรพ์ทั้งชิ้น

มาร์ก มิตเชลล์ กำลังค่อยๆสกัดหินออกมาจากซากดึกดำบรรพ์โนโดซอร์

ภาพ: ROBERT CLARK

งานวิจัยล่าสุดได้เผยถึงรูปลักษณ์ของเจ้าโนโดซอร์ตัวนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาส่วนที่มีสารอินทรีย์ที่มีซัลเฟอร์ตามผิวหนังและเกล็ดผิวหนังซึ่งหลงเหลือชิ้นส่วนของเมลานินชี้ว่า ผิวหนังส่วนหลังของมันมีสีน้ำตาลแดง จากการวิเคราะห์ยังพบอีกว่า การไล่เฉดสีทั้งลำตัวของโนโดซอร์ตัวนี้มีทั้งสีที่เข้ม และสีที่อ่อน ซึ่งช่วยในการพรางตัว การปรากฏของสีที่แตกต่างกันแสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์กินพืชได้รับแรงกดดันจากไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นอย่างมาก นี้จึงทำให้โนโดซอร์ตัวนี้ต้องพัฒนากลยุทธ์ในการใช้สีที่แตกต่างเพื่ออำพรางตัวจากนักล่า

ภาพ: Royal Tyrrell Museum

ภาพ: Royal Tyrrell Museum

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์โนโดซอร์ตัวนี้ ได้จุดไฟแห่งความหวังให้กับนักบรรพชีวินวิทยาในการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ที่มีสภาพสมบูรณ์แบบ อีกทั้งการค้นพบนี้ได้ให้มุมมองใหม่ๆเกี่ยวกับชีวิตของไดโนเสาร์ที่แม้ว่าจะหลับไหลอยุ่ในกาลเวลากว่าหลานยล้านปีก็ตาม นี่คือทูตจากอดีตกาลที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวของโลกดึกดำบรรพ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

อ้างอิง

- http://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(17)30808-4

- http://www.nationalgeographic.com/magazine/2017/06/dinosaur-nodosaur-fossil-discovery/

- http://news.nationalgeographic.com/2017/08/nodosaur-dinosaur-fossil-study-borealopelta-coloration-science/?utm_source=Twitter&utm_medium=Social&utm_content=link_tw20170803news-nodosaurname&utm_campaign&sf103472293=1


โพสต์ล่าสุด
bottom of page