top of page

ไดโนเสาร์แห่งสยาม


พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน

ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว

เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่

สุดเท่เหรียญทองมวยโอลิมปิก

นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีคำว่า"ไดโนเสาร์"ปรากฎอยู่ในคำขวัญ แสดงถึงจุดเด่นของจังหวัด แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงไดโนเสาร์ในไทยก็มักจะนึกถึงแค่จ.ขอนแก่นและจ.กาฬสินธิ์ แค่อันที่จริงแล้วยังมีอีกหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยที่มีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ แต่กว่าจะค้นพบได้นั้น ต้องแลกด้วยความยากลำบากของคณะสำรวจตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ผมจึงขอย้อนกลับไปในช่วงเวลาแห่งการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ น่าตื้นเต้น

ความบังเอิญ..คือจุดเริ่มต้น

ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ.2519 คณะสำรวจของโครงการสำรวจแร่ยูเรเนียม กรมทรัพยากรธรณี ได้เข้ามาสำรวจภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น (อันเข้าจริง ๆ ก็คือ ไม่ได้ตั้งใจจะมาหาไดโนเสาร์ตั้งแต่แรก) โดยนายสุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบกระดูกท่อนหนึ่ง ผลการศึกษาขณะนั้นทราบว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์คอยาว หางยาว เดิน4ขา) มีความยาวประมาณ 15 เมตร แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดชนิดพันธ์ุ แม้จะเป็นการค้นพบกระดูกเพียงหนึ่งชิ้น แต่นับว่าเป็นรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ครั้งแรกในประเทศไทย

กระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทย

ต่อมาได้มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส จัดตั้งคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างฟอสซิลของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ในปี พ.ศ.2524 คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้สำรวจในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ทำให้พบกระดูกขาของไดโนเสาร์ 2 ท่อนและสัตว์อื่นๆอีกมากมายหลายชนิดเป็นจำนวนมากอยู่ในชั้นหิน อีกหนึ่งปีต่อมาได้มีการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์เป็นจำนวนมาก นี้จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์อย่างจริงจัง

จะรู้ได้อย่างไรว่าที่ไหนมีไดโนเสาร์

ผมคงไม่ลงรายละเอียดลึกมาก เอาเป็นว่าขอพูดแบบภาษาชาวบ้าน ๆ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการจะหาซากดึกดำบรรพ์ได้นั้นจะต้องหาจากหินตะกอน ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิก(240-66 ล้านปี) ฉะนั้นนักธรณีวิทยาจะต้องหาจากหินตะกอนที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน อ่อ!..ผมลืมบอกอีกอย่าง ไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก ดังนั้นหินตะกอนที่หาต้องเป็นหินตะกอนที่เกิดจากการสะสมตัวบนบก

แผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทย มาตราส่วน 1:2,500,000

[ที่มา: กรมทรัพยากรธรณี]

จากการสำรวจทางธรณีวิทยา พบว่าหินตะกอนที่มีอายุอยู่ในช่วงมหายุคมีโซโซอิกกระจายอยู่ทั่วไปตามที่ราบสูงโคราช และกระจายตัวเป็นแห่งๆ ตามภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้บางส่วน หากดูตามแผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทยของกรมทรัพยากรธรณี จะสังเกตสีของหินต่างๆ ในประเทศไทย โดยหินในช่วงมหายุคมีโซโซอิกใช้สีม่วง,ฟ้า,น้ำเงิน และเขียวเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งสีต่างๆ นี้เป็นไปตามหลักสากลของ International Commission on Stratigraphy (ICS)

ตารางธรณีกาล

[ที่มา: ICS]

ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 จังหวัดที่มีการค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์

เมื่อลองมาดูแผนที่ประเทศไทยจะพบสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ฟอสซิลไดโนเสาร์ส่วนใหญ่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการกระจายตัวของหินตะกอนที่เรียกว่า กลุ่มหินโคราช

2. จ.พะเยา เป็นจังหวัดแรกในภาคเหนือที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์

3. จ.กระบี่ เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์

หมวดหินต่างๆ ในกลุ่มหินโคราชที่มีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์

จากการสำรวจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พบไดโนเสาร์ในประเทศไทยมากกว่า 16 ชนิด ซึ่งในทั้งหมดนี้มี 9 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่

1. อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชชิ

[ Isanosaurus attavipachi Buffetaut et al., 2000 ]

ไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ค้นพบฟอสซิลครั้งแรกที่จ.ชัยภูมิ ฟอสซิลฝังตัวอยู่ในหมวดหินน้ำพอง อายุประมาณ 210 ล้านปี ฟอสซิลชุดแรกที่พบนั้นคาดว่าอีสานโนซอรัสมีความยาวประมาณ 6 เมตร แต่จากการศึกษาพบว่ากระดูกสันหลังยังไม่พัฒนาอย่างสมบูรณ์ แสดงว่าอีสานโนซอรัสตัวนี้สามารถโตได้มากกว่านี้

กระดูกขาหลัง และกระดูกสันหลังของอีสานโนซอรัส

ที่มา: Buffetaut, Eric. The Earliest Known Sauropod Dinosaur. London, Eng.: n.p., 2000.

2. สยามโมซอรัส สุธีธรนี

[ Siamosaurus suteethorni Bettetaut & Ingavat, 1986 ]

ไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดแรกที่ค้นพบในประเทศไทย ค้นพบครั้งแรกในอุทยานแห่งชาติภุเวียง จ.ขอนแก่น พบฟอสซิลฟันในหมวดหินเสาขัว อายุประมาณ 130 ล้านปี แม้จะพบเพียงฟันไม่กี่ซี่ แต่ด้วยลักษณะทรงกรวยของฟัน บ่งบอกว่านี้คือไดโนเสาร์เทอโรพอดกลุ่ม"สไปโนซอริด" ฟันรูปทรงกรวยและมีร่องตามแนวฟันคล้ายฟันจระเข้ มีไว้เพื่อการจับสัตว์ที่มีผิวลื่น เช่น ปลา

ฟอสซิลฟันรูปทรงกรวยของ สยามโมซอรัส

3. ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน

[ Phuwiangosaurus sirindhornae Martin, Buffetaut & Suteethorn, 1994 ]

ไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 15-20 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น ฟอสซิลฝั่งอยู่ในหมวดหินเสาขัว อายุประมาณ 130 ล้านปี ภูเวียงโกซอรัสเป็นถือได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ที่สร้างความตื่นตัวในวงการธรณีวิทยาและชีววิทยาในประเทศไทย เพราะ เป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกๆ ที่ค้นพบกระดูกหลายชิ้น มีกระดูกทั้งจากวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ การค้นพบภูเวียงโกซอรัสในวัยต่างๆ ทำให้เห็นภาพของไดโนเสาร์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง และชี้ให้เห็นถึงถิ่นที่อยุ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในอดีต

ชิ้นส่วน(จำลอง)ของภูเวียงโกซอรัส ที่ค้นพบในภูประตูตีหมา อุทยานแห่งชาติภูเวียง

กระดูกของภูเวียงโกซอรัสที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ค้นพบที่ภูกุ้มข้าว จ.กาฬสินธิ์

4. สยามโมไทแรนนัส อีสานเอนซิส

[Siamotyrannus isanensis Buffetaut, Suteethorn & Tong, 1996]

ไดโนเสาร์ทรราชย์แห่งสยาม มีความยาวประมาณ 6.5 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่อุทยาน แห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น พบกระดูกสะโพกและกระดูกโคนหางฝั่งอยู่ในหมวดหินเสาขัว อายุประมาณ 130 ล้านปี การศึกษาในช่วงแรกได้ระบุว่าสยามไมไทแรนนัสเป็นไดโนเสาร์กลุ่มไทแรนโนซอริด แต่การศึกษาในเวลาต่อมาชี้ว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มมาเธียแคนโทซอริด อย่างไรก็ตาม..ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับสายพันธ์ุของสยามโมไทแรนนัส

กระดูกสะโพกและโคนหางของสยามโมไทแรนนัส

ที่มา: Nicolas LE CORRE/Gamma-Rapho via Getty Images

ดร.วราวุธ สุธีธร กับ กระดุกของสยามโมไทแรนนัส

ที่มา: Patrick AVENTURIER/Gamma-Rapho via Getty Images

5. กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส

[ Kinnareemimus khonkaenensis Buffetaut et al., 2009 ]

ไดโนเสาร์เทอโรพอดกลุ่มออร์นิโธมิโมซอร์ มีความยาวประมาณ 1-2 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น ฟอสซิลฝั่งอยู่ในหมวดหินเสาขัว อายุประมาณ 130 ล้านปี ไดโนเสาร์กลุ่มออร์นิโธมิโมซอร์มีลักษณะภายนอกคล้ายนกกระจอกเทศ เจะงอยปากของไดโนเสาร์กลุ่มนี้ไม่มีฟัน สันนิษฐานว่ากลุ่มนี้กินทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก

กระดูกขาหลังของกินรีมิมัส

ที่มา: Buffetaut, E., Suteethorn, V. and Tong, H. (2009). An early 'ostrich dinosaur' (Theropoda: Ornithomimosauria) from the Early Cretaceous Sao Khua Formation of NE Thailand, pp. 229-243 IN E. Buffetaut, G. Cuny, J. Le Loeuff & V. Suteethorn (eds.), Late Palaeozoic and Mesozoic Ecosystems in SE Asia. Geological Society, London, Special Publications 315: 229-243.

6. ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ

[ Psittacosaurus sattayaraki Buffetaut & Suteethorn, 1992 ]

ไดโนเสาร์กลุ่มเซราทอปเชียน มีความยาวประมาณ 1 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่จ.ชัยภูมิฟอสซิลฝั่งอยู่ในหมวดหินโคกกรวด อายุประมาณ 100 ล้านปี ซิตตะโกซอรัสมีจะงอยปากคล้ายนกแก้ว จึงเรียกไดโนเสาร์กลุ่มนี้อย่างเล่นๆ ว่า ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ซิตตะโกซอรัสเป็นต้นตระกูลของกลุ่มไดโนเสาร์ที่มีเขา มีแผงคอ (เช่น ไทรเซราทอปส์) จึงสันนิาฐานได้ว่าไดโนเสาร์มีเขากลุ่มนี้เริ่มมีวิวัฒนาการในทวีปเอเชีย

กระดูกกรามล่างของซิตตะโกซอรัส

7. สยามโมดอน นิ่มงามมิ

[ Siamodon nimngami Buffetaut & Suteethorn, 2011 ]

ไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนเทีย มีความยาวประมาณ 6 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่บ้านสะพานหิน จ.นครราชสีมา พบฟอสซิลกรามบนพร้อมฟันฝั่งอยู่ในหมวดหินโคกกรวด อายุประมาณ 100 ล้านปี

กรามล่างของสยามโมดอน

ที่มา: Eric Buffetaut and Varavudh Suteethorn (2011). "A new iguanodontian dinosaur from the Khok Kruat Formation (Early Cretaceous, Aptian) of northeastern Thailand". Annales de Paléontologie. 97 (1-2): 51–62.

8. ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ

[ Ratchasimasaurus suranareae Shibata, Jintasakul, & Azuma, 2011 ]

ไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนเทีย มีความยาวประมาณ 6 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่บ้านโปร่งแมลงวัน จ.นครราชสีมา พบฟอสซิลกรามล่างฝั่งอยู่ในหมวดหินโคกกรวด อายุประมาณ 100 ล้านปี

กระดูกกรามล่างของราชสีมาซอรัส

9. สิรินธรนา โคราชเอนซิส

[ Sirindhorna khoratensis Shibata, Jintasakul, Azuma & You, 2015 ]

ไดโนเสาร์กลุ่มอิกัวโนดอนเทีย มีความยาวประมาณ 6 เมตร ค้นพบครั้งแรกที่บ้านสะพานหิน จ.นครราชสีมา พบฟอสซิลหลายชิ้นฝั่งอยู่ในหมวดหินโคกกรวด อายุประมาณ 100 ล้านปี

กรดูกกรามล่างของสรินธรนา

ที่มา: Masateru Shibata, Pratueng Jintasakul, Yoichi Azuma and Hai-Lu You (2015). A New Basal Hadrosauroid Dinosaur from the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation in Nakhon Ratchasima Province, Northeastern Thailand. PLoS ONE. 10 (12): e0145904.

ภาพเปรียบเทียบขนาดของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในประเทศไทย

จนถึงตอนนี้ ยังคงมีการขุดค้นอยู่เรื่อย ๆ แน่นอนว่าในอนาคตเราต้องได้ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธ์ุใหม่อีกแน่นอน

อ้างอิง

-Buffetaut, E., and Suteethorn, V.(1999). The Dinosaur Fauna of the Sao Khua Formation of Thailand and the Beginning of the Cretaceous Radiation of Dinosaurs in Asia. Palaeogeography, Palaeoclimatology, Palaeoecology 150.1-2 : 13-23.

-Buffetaut , V. Suteethorn, J. Le Loeuff, S. Khansubha, H. Tong, K. Wongko. (2005). The dinosaur fauna from the Khok Kruat Formation (Early Cretaceous) of Thailand. Proceedings of the International Conference on Geology, Geotechnology and Mineral Resources of Indochina, Khon Kaen, Khon Kaen University, pp. 575–581

-วราวุธ สุธีธร. ไดโนเสาร์ของไทย. ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมทรัพยากรธรณี. 2545.

-พิพิธภัณฑ์สิรินธร

-พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

-กรมทรัพยากรธรณี

-http://www.stratigraphy.org/index.php/ics-chart-timescale

โพสต์ล่าสุด
bottom of page